ถ้าพูดถึงแนวเพลง blues ในยุคสมัยนี้ ศิลปินที่ยังมีผลงานโดดเด่นค้างฟ้าอยู่อย่างต่อเนื่อง คนแรกที่ผมนึกถึงก็คงจะเป็น Eric Clapton ผู้มีฉายาว่า slow hand คนนี้นี่แหละครับ เชื่อว่าหลายๆคนก็คงจะรู้จักกับผลงาน Eric Clapton กันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว
ชีวิตในวัยเด็ก
Eric Clapton ปัจจุบันก็เป็นคุณลุงที่มีอายุถึง 73 ปีแล้ว โดยในวัยเด็ก เนื่องจากเขาต้องเสียพ่อไปตั้งแต่ยังเด็ก Eric Clapton จึงถูกเลี้ยงดูมาโดยคุณตาคุณยายของเขา นามสกุล Clapton ก็ได้มาจากสามีของคุณยายในยุคนั้น หรือพูดอีกอย่างว่า นามสกุล Clapton ที่ใช้ เป็นนามสกุลทางฝั่งคุณแม่ของเค้านั่นเอง
Eric Clapton มีนิสัยที่เป็นคนเงียบขรึม มีความสุภาพ เขาเกิดมาในครอบครัวที่รักเสียงดนตรี ของขวัญในวัยเด็กที่เขาได้รับตอนช่วงอายุ 13 ขวบ นั่นก็คือกีตาร์โปร่งนั่นเอง Eric Clapton เรียนไม่จบมหาวิทยาลัย เนื่องจากว่าเขามีความสนใจในด้านดนตรีเป็นอย่างมาก ทำให้เขาทุ่มเทเวลาทั้งหมด ไปกับการฟังเพลงและฝึกซ้อมการเล่นกีต้าร์ จนถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยในที่สุด โดยแนวเพลงที่ Eric Clapton ชื่นชอบและฝึกซ้อมอยู่อย่างเสมอในยุคนั้นก็คือดนตรีแนวบลูส์นั่นเอง ซึ่งถ้าได้ฟังแค่นี้ก็คงจะพอเดาได้แล้วล่ะว่า ทำไมชีวิตของเอริค แคลปตัน ถึงได้ขึ้นสู่จุดสูงสุดในสายดนตรีได้ตั้งแต่อายุยังน้อย และดังไม่หยุดไม่หย่อนจนแก่ขนาดนี้ 🙂
ในวัย 16 ปี เมื่อถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย เส้นทางสายดนตรีของ Eric Clapton ก็ได้เริ่มต้นขึ้น โดยในช่วงแรก Eric Clapton ก็ได้เริ่มเล่นดนตรีตามผับในเมืองเซอร์เรย์ และมีวงดนตรีเป็นครั้งแรกในชีวิต ชื่อว่าวง Roosters ในช่วงอายุเพียง 17 ปีเท่านั้น
และเมื่ออายุ 18 ปี Eric Clapton ก็ได้เริ่มต้นงานดนตรีกับวง Yardbirds และนี่เองที่ทำให้แคลปตันเริ่มจะมีชื่อเสียงขึ้น มีโอกาสได้ขึ้นแสดงคอนเสิร์ตที่ Royal Albert Hall อะไรก็ได้ออกจากวง Yardbirds หลังจากอยู่ได้เพียง 2 ปีเท่านั้น
หลังจากนั้นแคลปตันก็ได้ผจญภัยไปกับหลายวง ทั้งวง จอห์น เมย์ออล และยังเดินสายอัดเสียงกีตาร์ให้กับหลาย ๆ วง ทั้งในประเทศและนอกประเทศ และเริ่มมีชื่อเสียงดังเพิ่มขึ้นอีก เมื่อได้ร่วมงานกับ แจ๊ค บรูซ และ สตีฟ วินวูด
ฉายา Slowhand
มีหลายครั้งที่ผมรู้สึกสงสัยกับฉายาของเอริค แคลปตันเหมือนกัน ว่าทำไมใครเค้าตั้งชื่อให้ว่า Slowhand กันนะ หรือว่า โซโล่ไม่ได้เร็วปรี๊ด เหมือนกับนักดนตรีสายโซโล่กันแน่ ซึ่งในภายหลังก็ถึงได้ทราบว่า Giorgio Gomelsky ซึ่งเป็นผู้จัดการของวง The Yardbirds ที่เอริคเคยร่วมงานด้วยในสมัยนั้นเป็นคนตั้งให้ เนื่องจากว่า
มีหลาย ๆ ครั้งที่ eric clapton โซโล่กีตาร์จนสายขาด และเมื่อสายกีตาร์ขาด เขาก็จะยืนรอจนกว่าจะมีคนเอากีตาร์มาเปลี่ยนให้ โดยคนดูก็จะช่วยกันปรบมือช้า ๆ รอให้เอริค แคลปตันเปลี่ยนกีตาร์จนเสร็จด้วย ซึ่ง Giorgio Gomelsky ก็เลยคิดถึงคำว่า Slowhand ที่มีความหมายถึงการที่ผู้ชมปรบมือช้า ๆ และยังเป็นคำที่ตรงกันข้ามกับความรวดเร็วในการโซโล่กีตาร์ของเอริค แคลปตันอีกด้วย
เริ่มต้นกับวง Cream
ในช่วงปี 1966 Eric Clapton ก็ได้ย้ายมาอยู่วง Cream และนี่เองก็เป็นจุดกำเนิดของตำนานเพลง Blues Rock ที่โด่งดังไปทั่วโลก Awesome I Feel Free สามารถทำยอดขายที่สหรัฐอเมริกา ได้มากกว่า 500,000 แผ่น ซึ่งในยุคนั้นก็มีไม่มากนักที่จะไปได้ถึงขนาดนี้ รายชื่อเสียงของ Eric Clapton ก็เริ่มโด่งดังมากขึ้นจนถึงที่สุด จะมีคำพูดที่ว่า สองมือกีตาร์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคนี้ก็คือ Eric Clapton และ Jimmy hendrix
อาจจะเป็นเพราะว่ามีแนวเพลงและมีสไตล์เป็นของตัวเองอย่างชัดเจน Eric Clapton อยู่กับวงครีม ได้เพียงแค่ 4 ปี ก่อนย้ายออกไป แต่ว่าถึงแม้ว่าจะอยู่เพียงแค่ 4 ปีเท่านั้นก็ตาม ก็ยังฝากผลงานที่ดีที่สุดไว้กับวงครีมถึง 4 อัลบั้ม ทุกอัลบั้ม ขึ้นอันดับ 1 ในชาร์ตเพลงหลายประเทศ เพลงฮิตที่น่าจะรู้จักกันดี ก็เช่นเพลง Sunshine of Your Love, white room
กำเนิดเพลง Layla
เมื่อออกจากวง Cream เขาก็ได้ เดินสายแจมกับวงต่างๆมากมายจนในที่สุดแล้ว ก็ได้ไปรู้จักกับ George Harrison แห่งวง Beatles และดูเหมือนว่า ครับท่านจะไปแอบชอบ Pattie Boyd ภรรยาของ George Harrison เข้า จนถึงขนาดมอบหนังสือที่ชื่อว่า “The Story of Layla and Majnun” ซึ่งเป็นกวีนิพนธ์ของเปอร์เซีย ที่เป็นเรื่องราวของหญิงที่มียศฐาสูงศักดิ์ แต่ถูกบิดาบังคับให้แต่งงานกับคนที่เธอไม่ได้รัก กลับมาตกหลุมรักกับชายร่อนเร่ไร้หลักแหล่ง นามว่า Majnun (มีความหมายตามคำศัพท์ว่า คนบ้า คนไร้สติ) ทั้ง 2 ไม่สามารถลงเอยความรักกันได้ ทำได้แค่เพียงถ่ายทอดความรักถึงกันผ่านเสียงนกร้อง ผ่านสายลมเท่านั้น และเรื่องราวความรักนี้ ก็จบลงด้วยโศกนาฎกรรม
Eric Clapton ได้อ่านหนังสือเล่มนี้จนจบ แล้วก็คิดว่ามันช่างเหมือนเรื่องรักต้องห้ามของเขาเสียเหลือเกิน เลยถ่ายทอดมันออกมาเป็นเพลงแนวบลูส์ และตั้งชื่อเพลงว่า Layla ซึ่งเป็นเพลงของเขาที่ถ่ายทอดให้กับ Pattie Boyd ซึ่งเป็นเมียเพื่อน พรรณาถึงความรักที่อัดอั้นมาตลอดนั่นเอง
ด้วยสไตล์ดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ และการแต่งเนื้อร้องและท่วงทำนองที่เข้าถึงคนได้อย่างง่าย ทำให้แม้แต่คนที่ไม่ได้ชอบเพลงบลูส์ ก็ยังหันมาติดตาม Eric Clapton จริง ๆ อาจจะพูดได้ว่า แคลปตันเอง ก็เป็นคนสำคัญคนหนึ่ง ที่ทำให้กระแสเพลงบลูส์ ได้รับการยอมรับในหมู่คนผิวขาว และโด่งดังมาจนถึงสมัยนี้เลยก็ว่าได้
แก่แต่เก๋า
ในช่วงท้ายของชีวิต แคลปตันถือได้ว่า เป็นคนที่ร่ำรวยเป็นอันดับต้น ๆ ของเกาะอังกฤษ แต่ตัวเขาเองก็ยังใช้ชีวิตที่เรียบง่าย มีบางครั้งที่นำเสื้อผ้ามาซักที่ร้านซักผ้า และนั่งรอ เหมือนกับคนอื่น ๆ ทั่วไป นอกจากนี้ก็ยังมีงานช่วยเหลือสังคมอีกมากมาย จัดงานคอนเสิร์ตการกุศล ที่ชื่อว่า Crossroads guitar festival อยู่หลายปี มีเพื่อน ๆ นักดนตรีในวงการเข้าร่วมแจมกันมากมาย และนักดนตรีรุ่นใหม่หลาย ๆ คน ก็เหมือนกับใช้เวทีแห่งนี้ในการแนะนำตัวให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว อย่าง John Mayer, Jonny Lang ฯลฯ โดยผลงานในช่วงท้ายของ Eric Clapton อาจจะไม่ได้ดุดัน และรวดเร็วเท่าเดิม แต่กลับเข้าถึงคนฟังได้ดี ตัวโน๊ตที่อิมโพรไวซ์มีความไพเราะมากขึ้นกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ แบบนี้คงต้องบอกว่า แก่แต่ยังเก๋า จริงไหมล่ะครับ..